มาเที่ยว "บุรีรัมย์" ตามรอย "อุทยานประวัติศาสตร์" ทั้ง "ปราสาทพนมรุ้ง" และ "ปราสาทเมืองต่ำ"
ก็ได้เวลาเดินทางกลับที่พัก ที่อยู่ อำเภอประโคนชัย ไม่ไกลนักจากอุทยานประวัติศาสตร์ทั้งสอง
ตลอดสองข้างทางยังคงให้ความเขียวสดใส สดชื่นตลอดทาง
สิ่งหนึ่งที่เห็นแล้ว ทำให้รู้สึกดีเสมอคือ "เถียงนา" ที่อยู่กลางท้องนา "เถียงนา" คือ บ้านหรือศาลาเล็กๆ ไว้พักพิงกลางท้องนา
ทำให้รู้สึกถึงความร่มเย็น ที่พักให้หายเหนื่อยได้เสมอ
"เถียงนา" คือสิ่งปลูกสร้างขนาดเล็ก เป็นที่อยู่อาศัยพอคุ้มแดดกันฝนได้ชั่วคราว สำหรับชาวนา ชาวไร่ เป็นที่พักแรมเพื่อ
เฝ้านา เฝ้าไร่ อาจมีหลายชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ขนำ ตูบ ทับ ห้างนา หรือ กระท่อมปลายนาก็เรียก
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ ก็ตามแต่จะพอหาได้และแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่่
"ขนำ" แปลว่า กระท่อมหรือเพิงพักที่สร้างไว้กลางทุ่งนา หรือในสวน เป็นคำภาษาปักษ์ใต้
ตลอดทาง มี "เถียงนา" ให้เห็นเป็นระยะ หลากหลายรูปแบบ และหลากหลายสภาพ
คงขึ้นอยู่กับกาลเวลา และการดูแลของผู้เป็นเจ้าของเนอะ
น่าไปนั่งพักเล่นเย็นใจจริงๆ
เดินทางมา ก็โพล้เพล้ ตะวันจะหายไปหลังเขา ใต้กลีบเมฆโน่นแล้ว
รีบกลับให้ถึงที่พักดีกว่า
ขับรถไป ชมท้องทุ่งนา และเถียงนารายทาง พลันก็ให้นึกถึงเพลง "คิดถึงบ้าน" ขึ้นมาซะงั้น
เพียงแต่สลับกัน... บ้านเราไม่มี ท้องทุ่งนาให้ชื่นชมแบบนี้...
"อำเภอประโคนชัย" เดิมคือเมืองตะลุง อยู่ที่บ้านตะลุงเก่า ตำบลโคกม้า และอพยพย้ายมาอยู่บริเวณเนินกลางทุ่งประโคนชัย
และก่อตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2440 เป็นชัยภูมิเหมาะแก่การตั้งเมือง มีคลองน้ำธรรมชาติได้แก่ห้วยตะโก และห้วยด้ามมีด
ล้อมรอบเนินบริเวณนี้ คำว่า "ตะลุง" หมายถึง เสาใหญ่ หรือ เสาหิน สำหรับผูกช้าง (ซึ่งเชื่อกันว่า ร.1 ทรงผูกช้าง
หลังกลับจากการทำสงครามกับเขมร ณ บริเวณวัดโคน อำเภอประโคนชัย) เมื่อ ร.ศ.116 เมืองตะลุงได้ตั้งเป็นอำเภอชื่อ
"อำเภอประโคนไชย" ในปี 2460 เปลี่ยนเป็น "อำเภอตะลุง" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "อำเภอประโคนชัย" คำว่าประโคนชัย
เพี้ยนมาจากคำว่า "ปังกูล" ในภาษาเขมรที่แปลว่า เสาหิน ในปี 2482 ปัจจุบันอำเภอประโคนชัย ครบรอบ 120 ปี
ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560 และ คำว่า "ประโคน" ยังเป็นคำที่ใช้ต่อท้ายนามสกุล เป็นต้นกำเนิดนามสกุลคนประโคนชัย
และยังเป็นคำต่อท้ายนามสกุลที่ใช้มากที่สุดในจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย
คำขวัญของอำเภอ "เทียนพรรษาเลิศล้ำ เมืองต่ำปราสาทหิน ถิ่นข้าวมะลิหอม ปลาจ่อมรสดี ร้อยพันปักษี คนมีน้ำใจงาม" (วิกิพีเดีย)
เรื่องและภาพโดย goodysite
www.goodysite.com