ทริป "พัทยา-สีชัง" ของเรา ในวันที่ 2 ที่เกาะสีชัง เราจะไปที่ "สะพานอัษฎางค์" และ "พระจุฑาธุชราชฐาน" กันค่ะ
เส้นทางในเขตพระราชฐาน ร่มรื่นมากเลย
"พระจุฑาธุชราชฐาน" บนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ในอดีตเป็นพระราชวังฤดูร้อนใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเหตุการณ์วิกฤต ร.ศ. 112
ก็สิ้นสุดการเป็นเขตพระราชฐาน ปัจจุบัน จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย ขอใช้พื้นที่บางส่วนเพื่อเป็นสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล และศูนย์ฝึกนิสิต
จึงทำหน้าที่ดูแลรักษาพระจุฑาธุชราชฐานไปในคราวเดียวกัน (วิกิพีเดีย "คลิก")
ทางเดินร่มรื่นแบบนี้ตลอดแนวเลย ชื่นใจจังค่ะ
เมื่อเดินมาเรื่อยๆ จนออกมาจะถึงทะเล ก็จะเห็น "จุดชมวิวเขาน้อย" สวยจัง รีบขึ้นบันไดไปชมวิวกันค่ะ
"จุดชมวิวเขาน้อย" อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ พระจุฑาธุชราชฐาน อยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ ที่เรียกว่า "เขาน้อย" สร้างขึ้นเมื่อครั้งมีการบูรณะพระราชวังจุฑาธุชราชฐานขึ้นมาใหม่
จึงสร้างบันไดและระเบียงไม้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินขึ้นไปชมวิวจากมุมสูงได้
ภาพมุมสูง จากจุดชมวิวเขาน้อย
เห็นเจดีย์ขาว ไกลๆ ไปๆๆ ดูกันค่ะ
ทางเดินไปยังร่มรื่นสวยงามเช่นเคย
มาถึงแล้ว เจดีย์ขาวที่เห็นคือ พระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร เป็นส่วนหนึ่งของ "พิพิธภัณฑ์โบราณสถาน" และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์
โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยส่วนที่ได้ปรับปรุงและจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ และโบราณสถานได้แก่ พระเจดีย์อุโบสถ วัดอัษฎางคนิมิตร,
เรือนไม้ริมทะเล, เรือนวัฒนา, เรือนผ่องศรี, และเรือนอภิรมย์
"ต้นพระศรีมหาโพธิ์" อยู่ในบริเวณพระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร เป็นต้นที่นำหน่อมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย
โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) เมื่อปี พ.ศ. 2434
ต้นพระศรีมหาโพธิ์หน้าวัดอัษฎางคนิมิตรนี้ ถือเป็นต้นไม้ที่สำคัญมากของเกาะสีชัง และประเทศไทย
เพราะเป็นต้นที่มีการนำหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา ซึ่งเป็นต้นลูกหลานของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
และเป็นครั้งแรกที่นำมาจากพุทธคยาโดยตรง ไม่ได้มาจากลังกา
"หินระฆัง" อยู่ใกล้กับวัดอัษฎางคนิมิตร มีซากเจดีย์เก่าแก่อยู่ใกล้ๆ ก่อนถึงวัดอัษฎางคนิมิตร เป็นจุดที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษคือ เสียงของหินจะมีเสียงกังวาลเหมือนระฆัง
หินระฆัง เป็นหินปูนผสมหินทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 - 400 ปี มีควมแข็งและหนาแน่นมาก เมื่อเคาะจะทำให้เกิดเสียง ซึ่งเป็นเสียงกังวาลคล้ายระฆัง
ไม่รอช้าที่จะทดสอบเลยค่ะ และเสียงที่ได้ก็ไพเราะกังวาลเหมือนระฆังจริงๆ
เราเดินต่อไปเรื่อยๆ ส่วนนี้ จะเป็นส่วนของต้นลีลาวดี ดูจากลำต้น น่าจะมีอายุมากทีเดียว
รื่นรื่น สวยงาม และหอมของดอกลีลาวดี
แล้วก็เดินมาถึงทะเล มีการดูแล ไว้อย่างเรียบร้อยเลยค่ะ
เรื่อนไม้ หนึ่งในเรือนไม้ที่อนุรักษ์ไว้
ตลอดแนวทะเล บริเวณ พระราชฐานจะมีที่นั่งชมทะเล ใต้ต้นมะขามใหญ่ ร่มรื่นดีมากๆ เลย
เรือนไม้ริมทะเล หนึ่งในเรืนไม้อนุรักษ์ นำมาใช้ประโยชน์ให้บริการเครื่องดื่มและอาหารว่างด้วย
แล้วก็มาถึง "สะพานอัษฎางค์" ที่อยู่ตรงหน้า เคยเห็นแต่ในรูปภาพ โปสการ์ดมานาน วันนี้ได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง ตื่นเต้นมากค่ะ
มองเห็นสะพานอัษฎางค์ที่ตรงหน้า กับสวนข้างๆ ไม่ต้องบอกก็คงรู้นะคะ ว่าเราจะไปที่ไหนก่อน
ใช่แล้วค่ะ เราดิ่งมาที่สะพานอัษฎางค์ทันทีเลย
ตื่นเต้นจัง แล้วเราก็รอ รอ รอ จนช่วงเวลาเสี้ยวนึงที่ไม่มีผู้คนบนสะพาน กดได้ภาพนี้มา "สะพานอัษฎางค์" ที่เกาะสีชัง เหมือนที่เคยเห็น ดีใจจัง สวยจัง ชอบจัง
สวยจังเลยนะคะ
"สะพานอัษฎางค์" สร้างขึ้นในในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระราชวังพระจุฑาธุชราชฐาน มีป้ายบอกที่สะพานว่า
"สะพานอัษฎางค์ รัตนโกสินทร์ ศก 110 สร้างสมัย ร. 5"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2434 ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเพื่อรักษาอาการป่วย
ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟัาอัษฎางเดชาวุธฯ เพื่อให้ราษฎรชาวเกาะสีชังได้ขึ้นลงสะดวก ไม่ต้องฝ่ากาบหอยหรือหินแหลมคม
และพระราชทานนามตามพระนามของเจ้าฟัาอัษฎางเดชาวุธฯ คือ "สะพานอัษฎางค์" (ขอบคุณสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "คลิก")
ความสวยงามของสะพานอัษฎางค์ และน้ำทะเลใสๆ เผลอแพลบเดียว เด็กๆ วิ่งลงน้ำกันเลย
ผู้ใหญ่ ใครไม่ลงน้ำ ก็นั่งรอที่นั่งใต้ต้นมะขามหน้าทะเลได้เหมือนกัน ดีมากๆ เลยค่ะ
เมื่อเดินมาทางซ้ายของสะพานอัษฎางค์ ก็สุดเขตพระราชฐาน จะมีซุ้มร้านค้า น้ำดื่มไว้บริการ รวมทั้งรถสกายแล๊ปแบบนี้ ที่จะพาเรากลับเข้าเขตเมือง
ไปหามื้อเที่ยงทานกัน
"สะพานอัษฎางค์" เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
แล้วจะกลับมาอีกนะคะ
เรื่องและภาพโดย goodysite
www.goodysite.com