เมือง "บุรีรัมย์" เมืองแห่งประวัติศาสตร์ เมื่อได้ชม "ประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน" ในตัวเมืองแล้ว เราก็ตามรอยมาชม
"ประวัติศาสตร์ยุคเก่า" กัน วันนี้ เราเดินทางจากที่พัก ที่หาได้ใกล้ๆ ที่ อ. ประโคนชัย ที่พักห่างจาก "ปราสาทพนมรุ้ง"
ไม่กี่กิโลเมตร
และแล้ว ก็มองเห็นป้าย "เมืองพนมรุ้ง" พร้อมคำขวัญ "ทุ่งฝ้ายคำ นามพระราชทาน ตำนานทับหลัง ที่ตั้งเจ้าพ่อปราสาททอง"
เราเลือกเส้นทางด้านหลัง ที่สามารถขับรถขึ้นไปได้ (แอบโกงเล็กน้อย ไม่ได้เดินขึ้นจากด้านหน้า)
มีค่าธรรมเนียมการเข้าชมโบราณสถาน ทั้งสำหรับคน และสำหรับรถ
จอดรถเป็นที่เรียบร้อย ก็เริ่มเดินชม "อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง" กันค่ะ
"อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง" หรือ "ปราสาทหินพนมรุ้ง" เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2
(บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร
ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ
(ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คำว่า "พนมรุ้ง" นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า "วนํรุง" แปลว่า "ภูเขาใหญ่"
ปัจจุบัน "ปราสาทหินพนมรุ้ง" กำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา
ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง
ของจังหวัดบุรีรัมย์ และถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์
รวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอีกด้วย (วิกิพีเดีย)
ป้ายบอกทิศทางของส่วนต่างๆ ใน "ปราสาทพนมรุ้ง" เราเลือกเดินเข้าชมปราสาทก่อนเลย
ปราสาทประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง
หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร
ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่า สร้างโดย นเรนทราทิตย์
ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ราว พุทธศตวรรษที่ 17 (วิกิพีเดีย)
ทางเดินสู่ปราสาททั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอดคล้ายดอกบัวตูมเรียกว่า เสานางเรียง จำนวนข้างละ 35 ต้น
ทอดตัวไปยัง "สะพานนาคราช" ซึ่งเป็นรูปทรงกากบาทยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชนี้
ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ จุดกึ่งกลางสะพาน มีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ
อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปด ในศาสนาฮินดู หรือเป็นจุดที่ผู้มาทำการบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน จากสะพานนาคราชชั้นที่ 1
มีบันไดจำนวน 52 ขั้นขึ้นไปยังลานบนยอดเขา (วิกิพีเดีย)
ปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤๅษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน
ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้น
เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17 ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ
เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 (วิกิพีเดีย)
"ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15"
ในช่วงต้นเดือนเมษายน และ กันยายนของทุกปี ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน
ชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน
จะมี "งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง" จัดเป็นประจำในเดือนเมษายนของทุกปี
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม และเดือนตุลาคมก็จะเป็นเดือนที่ ดวงอาทิตย์ตก
ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บานเช่นกัน
กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์ "ปราสาทพนมรุ้ง" โดยประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทพนมรุ้งในราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่ 52 ตอนนที่ จค วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2514 – 2531 ต่อมาได้ประกาศขอบเขตโบราณสถาน เนื้อที่ 451 ไร่ 11 ตารางวา
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
(กรมศิลปากร)
"ปราสาทเขาพนมรุ้ง"
ข้อมูลเพิ่มเติม
วิกิพีเดีย
"อำเภอเฉลิมพระเกียรติ"
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดบุรีรัมย์
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมเป็นพื้นที่การปกครองของ อำเภอประโคนชัย,อำเภอละหานทรายและอำเภอนางรอง
ตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ผ่านการเป็นกิ่งอำเภอ ตามโครงการจัดตั้งอำเภอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เนื่องในมหามงคลวโรกาสจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 (วิกิพีเดีย)
เรื่องและภาพโดย goodysite
www.goodysite.com