วัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม จังหวัดอุทัยธานี
ทริป "เพชรบูรณ์" - "เขาค้อ" ของเราก็มาถึงจุดสุดท้าย เส้นทางกลับบ้าน กทม คือ "วัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม" จังหวัดอุทัยธานี
"วัดท่าซุง" หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ "วัดจันทาราม"
ตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำซึม อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี 61000 เป็นอีกแหล่งรวมใจของชาวพุทธศาสนิกชน ชาวไทย แต่ด้วยสถาปัตยกรรมที่ออกแบบภายในตัวโบสถ์ หรือ "วิหารแก้ว"
สวยงดงามมาก จึงทำให้มีผู้มาเยี่ยมเยือนมากมาย
ชุดทำบุญ พาน ธูปเทียนแพ ก็สวยงาม ตระการตา
เริ่มแรกเดิมทีเมื่อ "พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) ได้มาบูรณะวัดท่าซุงนับตั้งแต่ ปี พ.ศ ๒๕๑๑ นั้น
วัดอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมาก และมีพื้นที่เพียง ๖ ไร่เศษ ทั้งๆ ที่แต่เดิมเคยมีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณริมแม่น้ำสะแกกรังถึงกว่า ๓๗๐ ไร่
ต่อมาท่านได้เป็นผู้นำคณะศิษยานุศิษย์ในยุคแรกนั้นค่อยๆ ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัด จนเจริญรุ่งเรืองมีเนื้อที่กว่า ๒๘๙ ไร่
มีอาคาร วิหาร มณฑปต่างๆ มากมายดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
จวบจนกระทั่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้มรณะภาพ ใน วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และในปัจจุบันท่านเจ้าอาวาสองค์ต่อมา
คือ ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ พร้อมคณะสงฆ์วัดท่าซุง ได้ดำเนินการบูรณะซ่อม สร้าง
และขยายวัดท่าซุงจนในปัจจุบันมีพื้นที่กว่า ๕๐๐ ไร่
ทั้งนี้ โดยศาลา อาคาร วิหาร มณฑปต่างๆได้จำแนกออกเป็นกลุ่มๆจำนวน ๑๓ กลุ่ม (เว็บไซด์วัดท่าซุง)
"วัดจันทาราม" หรือ "วัดท่าซุง" ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำซึม อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 510 ไร่ โดยแยกเป็นเนื้อที่วัด 280 ไร่ เนื้อที่ป่า 230 ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ 3 เส้น
จดถนนสาธารณะ ทิศใต้ประมาณ 3 เส้น จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ 3 เส้น 16 วา
จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ 3 เส้น 16 วา จดถนนสาธารณะ
วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2471 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2482
เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร (วิกิพีเดีย)
ด้วยการถ่ายภาพ มีการปรับแสงหลายๆ แบบ แต่ก็ยังไม่มีแบบไหน ที่ทำให้ได้ภาพตระการตา ตระการใจได้อย่างของจริงที่วัด (หรือเราจะปรับไม่เป็นซะละมัง แหะ แหะ)
แต่ขอบอกว่า สวยงามมาก เหมือนได้เข้าไปสู่วิมาน อยากขอพรพระมากมาย
เหล่าพุทธศาสนิกชน เดินทางมานมัสการขอพรมากมาย
วิหารแก้ว ของวัดท่าซุง มีช่วงเวลาเปิด-ปิดด้วย ควรกะเวลาให้พอดีนะคะ
เวลาเปิดช่วงเช้า 9.00 - 11.00 น. (ปิดเจริญพระกรรมฐานถึง 14.00 น.)
เวลาเปิดช่วงบ่าย 14.00 - 16.00 น. (ปิด ทำวัตรเย็นและเจริญพระกรรมฐาน)
โปรดแต่งกายสุภาพและเคารพระเบียบของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ภายในบริเวณ วัดท่าซุง กว้างขวางใหญ่โตมาก มีสถานที่สำคัญๆ ในวัดอีกหลายจุด และมีบริการรถนำเที่ยวภายในวัดท่าซุงด้วย
สถานที่สำคัญในวัดท่าซุง ที่ควรได้แวะไปมี
1. วิหารแก้ว
2. วิหารสมเด็จองค์พระปฐม
3. พระศรีอาริย์
4. พระยืน 30 ศอก
5. พิพิธภัณฑ์สมบัติพ่อให้
6. ปราสาททองคำ
7. วิหารหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์
8. พระอุโบสถ
เราเองก็ไปไม่ครบ เพราะกว่าจะมาถึง วัดท่าซุงก็บ่ายคล้อยไปมากแล้วค่ะ
จาก "วิหารแก้ว" เราก็เดินไปยัง "ปราสาททองคำ (กาญจนาภิเษก)" สวยงามมาก
ชื่อของ "ปราสาททองคำ หรือ กาญจนาภิเษก" เนื่องมาจาก ปี พ.ศ. 2539 เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ครบ 50 ปี ท่านเจ้าอาวาสจึงนำการสร้าง "ปราสาททองคำ" ขึ้นถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวาระที่ทรงเสวยราชย์ เป็นปีที่ 50 และทางสำนักพระราชวังได้ให้ชื่อปราสาททองคำใหม่ว่า "ปราสาททองกาญจนาภิเษก"
ปราสาททองคำกาญจนาภิเษก เริ่มสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 มีซุ้มพระยืน 8 ศอก ประดิษฐานบนยอดปราสาท ขณะนี้ปิดทองเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้งองค์พระ ซุ้มพระ
ในการก่อสร้างประสาททองคำ ท่านเจ้าอาวาสได้ให้พระสามารถซึ่งมีความชำนาญในด้านศิลปลายไทย ดังเช่น บุษบกที่ประดิษฐานสรีระสังขารพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
ลวดลายต่างๆ ภายใน และภายนอก ปราสาททองคำ
พระสามารถ มีหน้าที่ออกแบบ (พระสามารถ ฐานิสสโร เป็นผู้ออกแบบและสร้างซุ้มพระทั้งหมด ปัจจุบันลาสิกขาบทไปแล้ว) และควบคุมการก่อสร้างตลอดจนการตกแต่งต่างๆ
พระสามารถได้ออกแบบปราสาททองคำ มี 3 ชั้น มียอดทั้งหมด 37 ยอด เป็นยอดเท่าๆ กัน 36 ยอด ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และยอดตรงกลางเป็นยอดใหญ่ 1 ยอด
ส่วนบนสุดของปราสาท สร้างพระพุทธรูปปางลีลาขนาด 8 ศอก 1 องค์ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ
จากปราสาททองคำ มองผ่านซุ้มประตูไปทาง "พิพิธภัณฑ์สมบัติพ่อให้" เป็นอาคารเก็บพระพุทธรูป พระเครื่อง และวัตถุมงคลที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้จัดสร้างไว้ อีกทั้งยังใช้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ห้องประชุม ห้องสัมนาอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์สมบัติพ่อให้ เป็นอาคารรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยประยุกต์ เฉพาะตัวอาคารมีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ อยู่ตรงข้ามกับปราสาททองคำ เป็นอาคาร 3 ชั้น โดยชั้นที่ 2 จัดสร้างเป็นห้องสมุด ถือเสมือนเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม ละห้องประชุม สัมนา ส่วนชั้นที่ 3 ใช้เป็นที่เก็บพระพุทธรูป พระเครื่อง และวัตถุมงคล เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ลูกหลานรุ่นหลัง
วัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม
ตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำซึม อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี 61000
โทรศัพท์ 056 502 655
เว็บไซด์ "คลิก"
แผนที่ "คลิก"
เมื่อออกจากวัดท่าซุง (จันทาราม) ก็มักจะแวะซื้อของฝากติดมือกลับบ้าน ซึ่งสาวกน้ำพริกโดยเฉพาะน้ำพริกปลาร้า จะต้องแวะร้านนี้ค่ะ "ปลาร้าทรงเครื่อง จ่าวิรัช"
ตั้งอยู่ที่ 56 หมู่ 1 ถนนพหลโยธิน ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ 60130
โทรศัพท์ 056 267 499
แผนที่ "คลิก"
เรื่องและภาพโดย goodysite
www.goodysite.com